สภาสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จัดนิทรรศการแจงอันตรายโทรศัพท์มือถือต่อสุขภาพ ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ พร้อมแนะนำวิธีใช้ที่ปลอดภัย มุ่งลดปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทะลุทะลวงสมอง
ดร.ดนัย ทิวาเวช กรรมการสมาคมพิษวิทยา และรองเลขาธิการสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) กล่าวว่า สสวทท.จัดนิทรรศการมนุษย์และสิ่งรอบตัว ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-28 สิงหาคม ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยนำเสนอข้อมูลผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีต่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ใช้ตระหนักถึงอันตรายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ปัจจุบันประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลกพกพาโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ในประเทศไทยมีผู้ใช้กว่า 20 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่การใช้โทรศัพท์มือถือแนบหูครั้งละนานๆ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยในระยะสั้นจะมีอาการปวดหู ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มึนงง ขาดสมาธิ และเกิดความเครียดนอนไม่หลับ ส่วนผลในระยะยาว อาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคมะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายในอนาคต ผู้ใช้มือถือควรใช้แต่ละครั้งให้น้อยลง ใช้อุปกรณ์หูฟังทุกครั้ง เพราะจะทำให้ได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าน้อยลง หลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เพราะคลื่นแม่เล็กไฟฟ้าจะผ่านกะโหลกศีรษะของเด็กเข้าสู่เยื่อสมองได้ลึกกว่าของผู้ใหญ่ ไม่ใช้มือถือในขณะขับรถ เพราะทำให้ขาดสมาธิและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หลีกเลี่ยงการใช้ในขณะเติมน้ำมันรถยนต์ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้
สำหรับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ควรจะให้ข้อมูลข่าวสารทางวิชาการที่ถูกต้อง และทันเหตุการณ์กับประชาชน เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งมีมาตรการควบคุมอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทย มีประสิทธิภาพในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก http://hitech.sanook.com/mobile/news_06524.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น