วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

คลื่นวิทยุ ความเป็นมา การจัดสรร และการบำรุงรักษา

คลื่นวิทยุ
เครื่องส่งวิทยุจะแปลงสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าโดยใช้ไมโครโฟน และแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นวิทยุโดยใช้เสาอากาศเป็นตัวแพร่กระจายคลื่นวิทยุเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ไม่เกิน ๓๐๐ กิกะเฮิรตซ์ (หนึ่งกิกะเฮิรตซ์เท่ากับหนึ่งพันล้านรอบต่อวินาที) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงกว่านี้จะเป็น คลื่นอินฟาเรด คลื่นแสง คลื่นอัลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก และคุณสมบัติทางไฟฟ้าพร้อมๆ กันการแผ่กระจายของคลื่นก็คล้ายกับการแผ่กระจายของคลื่นน้ำบนผิวน้ำขณะเมื่อมีวัตถุตกกระทบผิวน้ำนั้น
คลื่นที่แพร่กระจายนั้นอาจเขียนแทนด้วยสมการคณิตศาสตร์ได้เป็น Acos (2pt-2pc/c) โดยที่ แทนความถี่ของคลื่น c เป็นความเร็วในการกระจายของคลื่น A คือแอมปลิจูด (amplitude) t แทนเวลา และ c แทนตำแหน่งสถานที่
เราอาจวาดกราฟของคลื่นได้สองลักษณะคือ กราฟที่มี c เป็นตัวแปร ขณะที่เวลาเป็นตัวคงที่จะเป็นกราฟของคลื่นในขณะใดขณะหนึ่ง แสดงถึงค่าของคลื่นในตำแหน่งต่างๆ เสมือนเป็นภาพถ่ายของคลื่น และกราฟที่มีเวลาเป็นตัวแปร โดย c เป็นตัวคงที่ แสดงถึงค่าของคลื่นที่ตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่ง ว่าเปลี่ยนแปลงตามเวลาอย่างไรรูปกราฟทั้งสอง แสดงไว้ในภาพประกอบ ภาพแรกแสดงค่าของคลื่นที่เวลาสองขณะ เมื่อเวลาล่วงเลยไปคลื่นจะเคลื่อนที่ไปทางขวาดังแสดงไว้ด้วยลูกศร ภาพที่สองแสดงค่าของคลื่นที่เปลี่ยนตามเวลา ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง รูปทั้งสองมีลักษณะเป็นรูปโคไซน์ (cosine) แอมปลิจูดคือ
ค่าสูงสุดของคลื่น ความถี่คือจำนวนรอบของคลื่น ในหนึ่งวินาที มีหน่วยเป็นรอบต่อวินาทีหรือเฮิรตซ์ (Hertz ย่อว่า Hz) ความเร็วของคลื่นเป็นความเร็วในการแผ่กระจายมีหน่วยเป็นเมตรต่อวินาทีความเร็วของคลื่นวิทยุในอวกาศมีค่าประมาณสามแสนกิโลเมตรต่อวินาที ความยาวคลื่นหมายถึงระยะทางที่คลื่นจะบรรจบมาที่ค่าเดิมครบหนึ่งรอบซึ่งเท่ากับระยะจากจุดต่ำสุดหนึ่งไปยังจุดต่ำสุดต่อไป ความยาวคลื่น (แทนด้วย l) สัมพันธ์กับความถี่ดังนี้

l
= c/f

กล่าวคือ ความยาวคลื่นเท่ากับความเร็วคลื่นหารด้วยความถี่ของคลื่น ส่วนคาบของคลื่นคือระยะเวลาที่ค่าของคลื่น (ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง) บรรจบมาครบหนึ่งรอบ คาบจะมีหน่วยเป็นวินาที และมีค่าเท่ากับหนึ่งหารด้วยความถี่ดังเช่น สถานีวิทยุแห่งหนึ่งกระจายเสียงด้วยความถี่ ๘๐๐ กิโลเฮิรตซ์ (หนึ่งกิโลเฮิรตซ์คือหนึ่งพันเฮิรตซ์) ความยาวคลื่นของคลื่นวิทยุจากสถานีนี้มีค่าประมาณ ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐/๘๐๐,๐๐๐ = ๓๗๕ เมตร และคาบของคลื่นเดียวกันมีค่า ๑/๘๐๐,๐๐๐ วินาที หรือ ๑.๒๕ ไมโครวินาที(หนึ่งไมโครวินาทีเท่ากับหนึ่งส่วนล้านวินาที)
คลื่นวิทยุเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า กล่าวคือเป็นคลื่นที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็กและคุณสมบัติทางไฟฟ้าพร้อมๆ กัน ความเข้าของสนามแม่เหล็ก (แทนด้วย B) และสนามไฟฟ้า (แทนด้วย E) นั้นจะตั้งฉากกัน โดยมีทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่นที่ตั้งฉากกับสนามทั้งสอง ดังแสดงในภาพประกอบ เมื่อคลื่นแผ่กระจายไปไกลขึ้น ความเข้มของสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าก็จะลดลง ดังนั้น เครื่องรับที่อยู่ห่างไกลจะได้รับสัญญาณที่ค่อยกว่าเครื่องรับที่อยู่ใกล้ กำลังของคลื่นจะแปรผกผันกับกำลังสองของระยะทาง กล่าวคือ ถ้า P วัตต์ เป็นกำลังของคลื่นวิทยุที่ส่งออกจากเสาอากาศออกไปรอบทิศ ณ จุดที่ห่างจากเสาอากาศ d เมตร จะได้รับคลื่นที่มีกำลังเท่ากับ P(4pd2) วัตต์ต่อตารางเมตร
เมื่อสัญญาณไฟฟ้าส่งผ่านเสาอากาศ จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแผ่กระจายออกไป ในทางตรงข้าม ถ้าหากเรานำเสาอากาศไปไว้ในคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลในเสาอากาศนั้นได้ ดังนั้น เครื่องรับวิทยุจึงมีเสาอากาศ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสัญญาณไฟฟ้า สัญญาณไฟฟ้านี้มักจะมีความแรงที่ต่ำมากต้องขยายให้มีความแรงมากขึ้น แล้วจึงถูกนำไปขับตัวลำโพงที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียงให้ผู้รับฟังได้ยิน

การแผ่กระจายของคลื่นวิทยุมีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับความถี่ของคลื่นลักษณะที่สำคัญมีสามแบบ คือ
แบบที่หนึ่ง คลื่นจะแผ่กระจายขนานไปกับพื้นผิวโลก (ground-wavepropagation) สามารถเดินทางไปในระยะไกลได้ คลื่นที่แผ่กระจายแบบนี้จะเป็นคลื่นที่มีความถี่ไม่เกินประมาณ ๒ เมกะเฮิรตซ์ (หนึ่งเมกะเฮิรตซ์เท่ากับหนึ่งล้านเฮิรตซ์) ดังเช่น คลื่นวิทยุกระจายเสียงระบบเอเอ็ม
แบบที่สอง จะเป็นการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ เรียกว่า แผ่กระจายโดยคลื่นฟ้า (sky-wave propagation) การสะท้อนคลื่นเป็นคุณสมบัติของชั้นบรรยากาศ ความถี่ที่ชั้นบรรยากาศสะท้อนลงมาอยู่ในช่วงประมาณ ๒ เมกะเฮิรตซ์ ถึงประมาณ ๓๐ เมกะเฮิรตซ์ อนึ่ง การสะท้อนคลื่นของชั้นบรรยากาศในตอนกลางวันและกลางคืนอาจแตกต่างกันบ้าง บางความถี่จะสะท้อนเฉพาะกลางคืน คุณสมบัติของการสะท้อนคลื่นจะแปรเปลี่ยนตามปริมาณประจุที่เกิดขึ้น (ionization) ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งขึ้นอยู่กับพลังจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก ในบางครั้งที่มีพายุพลังอาทิตย์ (solar wind) คุณสมบัติของชั้นบรรยากาศก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้มากวิทยุสมัครเล่นและวิทยุกระจายเสียงข้ามประเทศ คลื่นสั้น (short wave) จะใช้ความถี่ในย่านนี้ ทำให้ผู้รับที่อยู่ห่างไกลสามารถรับฟังได้ เพราะมีการสะท้อนคลื่นโดยชั้นบรรยากาศหนึ่งครั้งหรือมากกว่าหนึ่งครั้งก็ได้
แบบที่สาม จะเป็นการแผ่กระจายโดยตรงเรียกว่า การแผ่กระจายในแนวสายตา (line-of-sight propagation) กล่าวคือจุดที่รับคลื่นได้คือ จุดที่มองเห็นได้จากเสาอากาศของเครื่องส่ง การกระจายคลื่นแบบนี้จะไม่สามารถรับจากจุดบนพื้นโลกที่มีระยะทางไกลเนื่องจากความโค้งของพื้นผิวโลกบังเอาไว้

นอกจากนี้ ความชื้นในอากาศและชั้นบรรยากาศสามารถดูดซึมพลังงานของคลื่นวิทยุได้ บางความถี่จะถูกดูดซึมมากกว่าความถี่อื่นๆ ดังนั้น เมื่อลักษณะอากาศเปลี่ยนไป คุณภาพการรับสัญญาณวิทยุก็อาจจะแตกต่างกันไปด้วย
การนำระบบวิทยุมาใช้งานจึงต้องคำนึงถึงความถี่ให้เหมาะสม ดังเช่น การติดต่อกับดาวเทียมหรือยานอวกาศ จำเป็นต้องใช้ความถี่ที่สามารถทะลุชั้นบรรยากาศได้
แถบความถี่ต่างๆ ของคลื่นวิทยุมีชื่อเรียกและมีคุณสมบัติต่างกัน ดังสรุปไว้ในตารางประกอบ

ความเป็นมาของระบบวิทยุ
ในคริสต์ศักราชที่ ๑๙ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ เคลิก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและได้ตีพิมพ์บทความในปี ค.ศ. ๑๘๖๔ กล่าวถึง กฎพื้นฐานของคลื่นแม่เหล็ก-ไฟฟ้าอย่างกระทัดรัด โดยเขียนในรูปของสมการคณิตศาสตร์ สมการเหล่านี้เป็นพื้นฐานของวิชา ดังกล่าว และยังใช้กันตราบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันสมการเหล่านี้ เรียกว่า สมการของแมกซ์เวลล์อย่างไรก็ดี แมกซ์เวลล์ไม่ได้ทำการทดลองที่สนับสนุนทฤษฎีของเขา ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๘๗ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ไฮน์ริช เฮิรตซ์ (Heinrich Hertz) ได้ทำการทดลองการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านอากาศ การทดลองมีเครื่องส่งและเครื่องรับเครื่องส่งประกอบด้วยแหล่งกำเนิดไฟฟ้าต่อผ่านขดลวดเหนี่ยวนำ ไปยังลวดที่มีสองปลายติดกับทรงกลมที่มีช่องว่างห่างกันเล็กน้อย เมื่อป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าไปมากพอก็จะเกิดประกายไฟขึ้นตรงช่องว่าง ประกายไฟนี้ ทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระจายออกไปรอบทิศ ส่วนเครื่องรับจะประกอบด้วยลวดวงกลมมีสองปลายติดกับทรงกลม ซึ่งมีช่องว่าง ระหว่างทรงกลมเล็กน้อยเช่นเดียวกับเครื่องส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตัดผ่านภายในขดลวดของเครื่องรับ จะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหล ในขดลวดของเครื่องรับ เมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีความแรงเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดประกายไฟระหว่างทรงกลมทั้งสองของเครื่องรับ การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถส่งสัญญาณจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และไม่ต้องใช้สายต่อเชื่อมระหว่างเครื่องส่งและเครื่องรับเลย
ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๔ นักวิทยาศาสตร์ ชาวอังกฤษชื่อ โอลิเวอร์ ลอดจ์ (Oliver Lodge)ได้แสดงการส่งสัญญาณโดยไม่ใช้สายเป็นระยะทาง ๑๕๐ หลา และในปี ค.ศ. ๑๘๙๕ กุกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ชาวอิตาเลียน ได้ส่งสัญญาณแบบไร้สายเป็นระยะทาง ๒ กิโลเมตร มาร์โคนี ได้ตั้งบริษัทขึ้นมา และได้ทำการทดลองส่งสัญญาณแบบไร้สายเป็นระยะทางเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๐๑ เขาก็สามารถส่งสัญญาณคลื่นวิทยุข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้เป็นครั้งแรก
การพัฒนาระบบวิทยุได้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ควบคู่กับการพัฒนาอุปกรณ์และระบบให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ดังเช่น การประดิษฐ์หลอดไดโอดสุญญากาศ โดยชาวอังกฤษ ชื่อ จอห์น เฟลมมิ่ง (John A. Fleming) และหลอดไตรโอดสุญญากาศโดยชาวอเมริกัน ชื่อ ลี เดอร์ฟอเรสต์ (Lee De Forest) หลอดสุญญากาศทั้งสองนี้เป็นชิ้นส่วนอันเป็นหัวใจของเครื่องรับส่งวิทยุ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ นักวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกันชื่อ รัสเซล โอล์ (RussellOhl) ได้ประดิษฐ์ไดโอดที่ใช้สารกึ่งตัวนำ และในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ๓ คนคือวิลเลียม ช็อกเล่ (William B. Shockley) จอห์น บาร์ดีน (John Bardeen) และวอลเตอร์ แบรทเท็น (Walter H. Brattain) ได้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ขึ้นปัจจุบัน เครื่องรับส่งวิทยุส่วนมากใช้ไดโอดและทรานซิสเตอร์ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำ เพราะกินไฟน้อยและสามารถทำให้เล็กกระทัดรัดได้
ระบบวิทยุในระยะแรกๆ นั้นใช้วิธีการส่งแบบเอเอ็ม (AM) ซึ่งจะได้กล่าวถึงเพิ่มเติมภายหลังต่อมา วิศวกรไฟฟ้าชาวอเมริกันชื่อ เอ็ดวิน อาร์มสตรอง (Edwin Armstrong) ได้คิดค้นวิธีส่งแบบเอฟเอ็ม (FM) ขึ้น ซึ่งเขาได้แสดงให้เห็นการทำงานของระบบนี้ในปี ค.ศ. ๑๙๓๓ ปัจจุบันวิทยุกระจายเสียงจะมีทั้งระบบเอเอ็มและระบบเอฟเอ็ม สัญญาณภาพของโทรทัศน์จะส่งโดยระบบเอฟเอ็ม และสัญญาณเสียงของโทรทัศน์จะใช้ระบบเอฟเอ็มเช่นกัน ระบบโทรทัศน์ขาวดำได้รับการพัฒนาขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โดยชาวรัสเซียที่อพยพไปประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อวลาดิเมียร์ เค ซโวรีคิน (Vladimir K.Zworykin) ซึ่งได้ประดิษฐ์ระบบโทรทัศน์ที่ใช้งานได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๒๙ ต่อมาจึงมีการพัฒนาโทรทัศน์สีขึ้นอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน
ในครึ่งศตวรรษหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ได้มีการพัฒนาระบบการส่งสัญญาณที่มีการแปลงสัญญาณเป็นระบบตัวเลขหรือระบบดิจิทัล (digital) ก่อนที่จะส่งโดยใช้คลื่นวิทยุ ระบบดิจิทัลที่ใช้กันทั่วไปนั้นเป็นระบบฐานสองหรือไบนารี (binary) กล่าวคือ สัญญาณที่จะส่งนั้นจะมีรูปแบบเป็นศูนย์กับหนึ่ง (หรือปิดกับเปิด) อันที่จริงระบบไบนารีนั้นได้ใช้กันมานานแล้ว ดังเช่น ระบบโทรเลข ซึ่งได้รับการประดิษฐ์ขึ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ การส่งโทรเลขจะส่งเป็นสัญญาณจุดและขีดแทนตัวเลขศูนย์และหนึ่ง (ดูเรื่องโทรคมนาคมภาคแรกเล่มที่ ๗) แต่การพัฒนาการส่งสัญญาแบบดิจิทัลในภายหลังนั้น จะพัฒนาด้านประสิทธิภาพ ความเร็วของการส่งการใช้รหัสเพื่อดักและแก้ตัวที่ผิดพลาดจากการส่งรวมทั้งการบีบอัดปริมาณของข้อมูลให้น้อยลง อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาการส่งสัญญาณแบบดิจิทัลเริ่มขึ้นจากบทความของวิศวกรชาวอเมริกันชื่อ แฮรี่ ไนควิสต์ (Harry Nyquist) ซึ่งตีพิมพ์บทความใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ใจความสำคัญของบทความนั้นมีดังนี้ ถ้าเราสุ่มค่าของสัญญาณด้วยอัตราไม่ต่ำกว่าสองเท่าของความถี่สูงสุดของสัญญาณนั้น เราก็จะไม่สูญเสียข้อมูลใดๆ ของสัญญาณเดิมนั้นเลย กล่าวคือ เราสามารถสร้างสัญญาณเดิมนั้นได้จากค่าที่สุ่มไว้โดยที่ไม่ผิดเพี้ยนจากสัญญาณเดิม ยกตัวอย่างเช่น เสียงพูดมีความถี่สูงสุดประมาณ ๓.๕ กิโลเฮิรตซ์ ถ้าเราสุ่มค่าด้วยอัตราอย่างต่ำ ๗,๐๐๐ ค่า/วินาที (กล่าวคือสุ่มค่าทุกๆ ๑/๗,๐๐๐ วินาที หรือน้อยกว่า) สัญญาณสุ่มที่ได้จะแทนสัญญาณเสียงพูดเดิมได้อย่างสมบูรณ์ ต่อมานักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ คลอด อีแชนนอน (Claude E. Shannon) ได้ตีพิมพ์บทความ ในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ แสดงถึง อัตราสูงสุดของการส่งสัญญาณดิจิทัลผ่านสื่อที่มีสัญญาณรบกวน โดยที่มีความผิดพลาดอยู่ภายในกำหนด ผลจากบทความของไนคริสต์และแชนนอน ได้ผลักดันให้มีการค้นคว้าวิจัยระบบส่งสัญญาณแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสัญญาณที่เกิดตามธรรมชาติ ดังเช่น เสียงพูด เสียงดนตรี อุณหภูมิ ความดัน สัญญาณจากการเต้นของหัวใจ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณแบบต่อเนื่อง หรือแอนะล็อก (analog) การส่งสัญญาณเหล่านี้โดยใช้วิธีส่งแบบดิจิทัลก็กระทำได้โดยการสุ่มสัญญาณแอนะล็อกก่อนแล้วจึงเปลี่ยนค่าที่สุ่มได้แต่ละค่าเป็นสัญญาณดิจิทัล หลังจากนั้นจึงส่งสัญญาณดิจิทัลผ่านตามสื่อไปยังเครื่องรับ (สื่ออาจจะเป็น อวกาศสายไฟ สายใยแก้ว เป็นต้น) เครื่องรับก็จะแปลงสัญญาณดิจิทัลกลับคืนเป็นสัญญาณแอนะล็อก
ข้อดีของการส่งสัญญาณแบบดิจิทัลก็คือเราสามารถซักฟอกสัญญาณดิจิทัลให้สะอาด ปราศจากสัญญาณรบกวนได้ กรณีที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีไบนารีซึ่งมีค่าได้เพียง ๐ กับ ๑ เนื่องจากเครื่องรับทราบว่าจะต้องเป็นค่า ๐ หรือ ๑ เท่านั้น เครื่องรับก็จะขจัดสัญญาณกวนไปได้ดังเช่น ถ้าเครื่องรับรับค่าเป็น ๐.๑๓ ก็จะถูกปัดเป็น ๐ เพราะถือว่าส่วนเกินคือสัญญาณรบกวน ด้วยเหตุผลนี้เอง การส่งสัญญาณแบบดิจิทัลจึงมีคุณภาพที่ดีกว่า นอกจากนี้ วงจรดิจิทัลยังสามารถสร้างให้มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถรวมวงจรจำนวนมากเข้าด้วยกันอยู่บนแผงวงจรรวม (หรือที่รู้จักกันว่า ไอซี IC = Integrated Circuit) เดียวกัน ดังนั้นผลิตภัณฑ์จะมีขนาดเล็ก กินไฟน้อย ดังเช่น โทรศัพท์มือถือสมัยใหม่จะเล็กบางกระทัดรัดและเบา ทำให้สะดวกต่อการพกพา
การจัดสรรความถี่วิทยุ
แถบความถี่สำหรับวิทยุเป็นทรัพยากรประเภทหนึ่ง และเป็นของส่วนรวม การใช้แถบความถี่จึงควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับการจัดสรรความถี่จึงเป็นสิ่งที่ควรจัดทำให้เหมาะสม ในประเทศไทยการจัดสรรความถี่เป็นหน้าที่ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เนื่องจากมีระบบวิทยุมากมายที่ต้องการใช้แถบความถี่ ปัจจุบันความถี่ในบางช่วงจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ในแผนภาพประกอบแสดงถึงความถี่ที่จัดสรรให้กับวิทยุประเภทต่างๆ บางประเภท นอกจากความถี่ที่แสดงไว้แล้ว ยังมีความถี่อื่นๆ ที่ถูกจัดสรรแล้วแต่ไม่ได้แสดง ดังเช่น ความถี่ที่จัดสรรให้กับหน่วยงานทางทหาร ซึ่งเป็นความลับเพื่อความมั่นคง และความถี่ที่จัดสรรให้ใช้กับระบบวิทยุที่ติดต่อกันเป็นแบบส่วนบุคคล ในภาพที่แสดงนั้น อัตราส่วนในแถบความถี่ต่างๆ จะไม่เหมือนกัน เพื่อจัดภาพให้อยู่ในรูปเดียวกันได้
การบำรุงรักษา
เครื่องรับวิทยุที่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีก็จะใช้งานได้นาน เช่น เดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก่อนจะใช้งานควรอ่านคู่มือให้เข้าใจเสียก่อน มิฉะนั้น การใช้งานอย่างผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ การใช้งานและการดูแลรักษา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
๑. เครื่องวิทยุจะต้องไม่ให้เปียกน้ำ เพราะจะทำให้ไฟช็อต เกิดอันตรายและความเสียหายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรนำวิทยุเข้าไปฟังในห้องน้ำเวลาอาบน้ำ เป็นต้น
๒. ไม่ควรเก็บวิทยุในที่อับ หรือที่ชื้นหรือร้อนจัดเกินไป ดังเช่น ไม่ควรนำวิทยุไปตากแดด ไม่ควรเก็บไว้ในห้องน้ำซึ่งมีความชื้นสูง
๓. อย่าเสียบปลั๊กหรือดึงปลั๊กออกด้วยมือที่เปียกน้ำ เพราะอาจจะทำให้ถูกไฟดูดได้
๔. ควรตรวจตราดูว่าสายไฟชำรุดหรือไม่ เช่น ฉนวนที่หุ้มเกิดการถลอก เพราะจะเป็นสาเหตุให้ไฟช็อตหรือไฟดูดได้
๕. ถ้าไม่ใช้วิทยุเป็นเวลานาน ก็ควรจะดึงปลั๊กออก
๖. เวลาหมุนปุ่มปรับต่างๆ ไม่ควรกระทำอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ชำรุดได้
๗. วิทยุส่วนมากจะมีช่องลม เพื่อให้ความร้อนภายในระบายออกมาได้ เนื่องจากขณะที่วงจรอิเล็กทรอนิกส์ทำงานจะมีความร้อนเกิดขึ้น ถ้าความร้อนไม่ถูกระบายออกนอกวิทยุ จะทำให้วงจรเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นขณะที่เปิดวิทยุอยู่ ไม่ควรนำผ้าหรือสิ่งอื่นมาคลุมปิดช่องระบายอากาศ
๘. ควรทำความสะอาดเมื่อเครื่องวิทยุมีความสกปรก เช่น มีฝุ่นเกาะมาก ก่อนที่จะทำความสะอาดต้องดึงปลั๊กออก การทำความสะอาดให้นำผ้าชุบน้ำหรือน้ำสบู่อ่อนๆ แล้วบิดให้แห้งหมาดๆ นำมาเช็ดเครื่องวิทยุให้สะอาดหลังจากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าแห้ง
๙. ไม่ควรแกะฝาครอบออกมาเพื่อเปิดดูภายในของวิทยุ ควรให้ผู้รู้ซ่อมแซมเท่านั้น มิฉะนั้นอาจจะทำให้เครื่องชำรุดมากขึ้น
๑๐. ไม่ควรให้วัตถุหนักทับบนเครื่องวิทยุหรือสายไฟ เพราะจะทำให้ชำรุดได้

ขอขอบคุณความรู้จาก Sanook
ที่มาจาก
http://guru.sanook.com/search/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น