วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

'คลื่นโทรศัพท์มือถือ' รู้เลี่ยง รู้ใช้ ปลอดภัย

โทรศัพท์มือถือ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว แต่การที่เรามีความต้องการใช้อะไรที่มากเกินไปก็มักมีผลเสียตามมาเสมอ เป็นที่มาของงานวิจัยแขนงต่างๆ ที่ชี้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมาก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของมือถืออาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งหรือเนื้องอกในสมองได้ ซึ่งบางงานวิจัยเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เท็จจริงอย่างไรไม่สำคัญ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนน่าจะแน่นอนกว่า..!!!
ดร.พิเชษฐ กิจธารา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ว่า “คลื่น” คือการเปลี่ยน แปลงกลับไปกลับมาหรือการกระเพื่อมในลักษณะที่มีการแผ่กระจายหรือเคลื่อนที่ออกจากแหล่งกำเนิด โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. คลื่นกล เป็นคลื่นที่ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่ คลื่นประเภทนี้ก็คือ คลื่นผิวน้ำ ซึ่งเป็นการกระเพื่อมของผิวน้ำและแผ่กระจายออกไปเมื่อเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จุดที่ก้อนหินกระทบผิวน้ำก็คือแหล่งกำเนิดคลื่นและตัวกลางในการเคลื่อนที่ก็คือ น้ำ และคลื่นกลอีกชนิดหนึ่งก็คือคลื่นเสียงซึ่งใช้อากาศเป็นตัวกลาง
2. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นคลื่นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กสามารถเคลื่อนที่ได้ในสุญญากาศโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกชนิดเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสง (ประมาณ 300,000,000 เมตรต่อวินาที เทียบเท่ากับการเคลื่อนที่รอบโลกประมาณ 7 รอบในเวลา 1 วินาที) ตัวอย่างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราคุ้นเคยก็คือ คลื่นวิทยุ คลื่นแสงและรังสีเอ็กซ์ (X-Ray) โดยคำว่าคลื่นและรังสี หมายถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนกัน แต่เรามักใช้คำว่ารังสีกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานสูงมาก เช่น รังสีเอ็กซ์ (ใช้ในการเอกซเรย์ในโรงพยาบาล) และรังสีแกมม่า (Gamma-Ray ; มาจากนอกโลกและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) เช่น แหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์คือเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์ในโรงพยาบาล ส่วนรังสีแกมม่ามาจากนอกโลกเป็นส่วนใหญ่หรือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
รังสีทั้ง 2 นี้มีพลังงานมากพอที่จะทำให้ยีนหรือเซลล์ในร่างกายมนุษย์เกิดความผิดปกติได้ทันทีที่ได้รับรังสี แต่โอกาสที่จะเกิดความผิดปกตินั้นน้อยมากและร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดเซลล์ผิดปกติได้อย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือว่าอันตรายจากการเอกซเรย์ทั่วไปในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นน้อยมากคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับจากการช่วยวินิจฉัยโรค แต่การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้เซลล์ของพนักงานที่อยู่ใกล้เกิดความผิดปกติทันทีเช่นกัน และหากได้รับปริมาณรังสีมากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน กลายเป็นมะเร็งหรือเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน แต่คลื่นที่มีความถี่น้อยกว่านั้น เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ คลื่นอินฟราเรด คลื่นแสง คลื่นเหนือม่วง มีพลังงานน้อยกว่าและไม่ทำให้เซลล์ในร่างกายมนุษย์เกิดความผิดปกติแบบทันทีทันใด แต่สามารถทำให้เกิดอันตรายได้หากได้รับคลื่นเป็นระยะเวลานานๆ หลายปี เช่น คลื่นยูวีในแสงแดดเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งผิวหนัง
สำหรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออยู่ในช่วงไมโครเวฟ มีความถี่ประมาณ 800–2,500 MHz (1 MHz = 1 ล้านลูกคลื่นต่อวินาที) เป็นคลื่นที่สามารถทะลุเข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือเนื้อเยื่อได้ง่าย (ต่างกับคลื่นแสงที่ไม่สามารถทะลุผิวหนังเข้าไปลึกๆ ได้) และเป็นช่วงคลื่นเดียวกับที่ใช้ในเตาไมโครเวฟ ถึงแม้กำลัง (อัตราพลังงานที่ใช้ต่อวินาที) ของโทรศัพท์มือถือ (1-2 วัตต์) จะน้อยกว่าของเตาไมโครเวฟ (ประมาณ 1,000 วัตต์) แต่เนื่องจากเป็นความถี่ในช่วงเดียวกัน จึงทำให้เกิดความกังวลเรื่องอันตรายจากคลื่นในช่วงนี้ขึ้นมา ซึ่งความกังวลหลักมีอยู่ 2 ประเด็นคือ คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือทำให้เซลล์สมองเกิดความผิดปกติโดยตรงหรือไม่และความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟส่งผลทางอ้อมต่อสมองหรือไม่อย่างไร
จากผลงานวิจัยในอดีตเมื่อหลายปีก่อนนับร้อยชิ้นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของคลื่นไมโครเวฟต่อสมอง ซึ่งผลวิจัยมีทั้งที่เห็นว่าเป็นอันตรายและที่เห็นว่าไม่เป็นอันตรายจำนวนเท่าๆ กัน จึงไม่สามารถสรุปไปทางใดทางหนึ่งได้ แต่ อย่างไรก็ตามความผิดปกติจากคลื่นความถี่ต่ำพลังงานน้อยอย่างคลื่นไมโครเวฟนั้นเกิดขึ้นช้ามากในระยะเวลาหลายปี การศึกษาวิจัยจึงต้องใช้เวลานานหลายปีเช่นกัน ผลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือจึงเพิ่งทยอยออกมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ข่าวที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในช่วงกลางปี 2011 ก็คือ ผลสรุปจากการประชุมของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) ซึ่งมีสาระสำคัญๆ ดังนี้
1. การประชุมได้พิจารณาผลงานวิจัยนับร้อยชิ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
2. ผลงานวิจัยทั้งหมดไม่เพียงพอหรือไม่สามารถบอกได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในกรณีปกติทั่วไปทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง
3. งานวิจัยที่บ่งบอกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเยอะเกินไปเป็นเวลานาน (มากกว่า 30 นาทีต่อวัน เป็นเวลากว่า 10 ปี) เพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง 40% มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ (ทุกคนมีโอกาสเป็นเนื้องอกสมอง แต่ถ้าคุณใช้มือถือมากเกินไป โอกาสที่คุณจะเป็นเนื้องอกมีมากขึ้น) อย่างไรก็ตามนี่เป็นงานวิจัยเพียง 1 ชิ้นที่จะต้องรองานวิจัยจากกลุ่มอื่นยืนยันต่อไป
4. ที่ประชุมจัดให้คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่อยู่ในกลุ่ม 2B คือหมายถึงกลุ่มที่อาจจะเพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง (possibly carcinogenic to humans) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเครื่องสำอางบางชนิด
โดยทาง International Agency for Research on Cancer (IARC) แบ่งกลุ่มปัจจัยก่อมะเร็งเป็น 4 กลุ่มด้วยกันคือกลุ่มที่ 1 ก่อมะเร็งชัดเจน (definitely carcinogenic to humans) ต้องหลีกเลี่ยง กลุ่มที่ 2A น่าจะก่อมะเร็ง (probably carcinogenic to humans) ควรหลีกเลี่ยง กลุ่มที่ 2B อาจจะก่อมะเร็ง (possibly carcinogenic to humans) พึงระวัง หรือยึดปลอดภัยไว้ก่อน กลุ่มที่ 3 ไม่สามารถจำแนกได้ (not classifiable as to its carcinogenicity to humans) และกลุ่มที่ 4 ไม่น่าจะก่อมะเร็ง (probably not carcinogenic to humans)
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสำคัญอื่นๆ อีก ถึงแม้งานวิจัยเหล่านี้ยังมีจำนวนน้อยชิ้นแต่เป็นงานวิจัยที่ควรติดตามเพื่อยืนยันต่อไป เช่น ยังไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟมีน้อยและไม่กระทบสมองโดยตรง กระแสเลือดในสมองสามารถระบายความร้อนได้ดี แต่ความร้อนต่อดวงตายังต้องรอการวิจัยต่อไป เพราะภายในดวงตาไม่มีเส้นเลือดคอยระบายความร้อน งานวิจัยบางชิ้นบ่งบอกว่าคลื่นไมโครเวฟทำให้พูดช้าลง รบกวนการเต้นของหัวใจ รบกวนความจำ เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งช่องปาก แต่ทั้งหมดยังไม่ยืนยัน เนื้อสมองที่อยู่ใกล้โทรศัพท์ขณะสนทนาใช้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสมากขึ้น แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงว่าทำให้ก่อมะเร็งหรือไม่
ในเมื่อผลการวิจัยต่างๆ ยังไม่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าโทรศัพท์มือถือปลอดภัยหรือไม่ เราควรยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนโดยการปฏิบัติดังนี้ หลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน (ควรน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน และคุยสั้นๆ ในแต่ละครั้ง) หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในลิฟต์หรือในรถยนต์ เพราะลิฟต์และรถยนต์ทำด้วยโลหะที่ไปลดพลังงานของคลื่นที่จะส่งไปยังสถานีโทรศัพท์ (เสาโทรศัพท์ตามยอดตึกต่างๆ) เมื่อถูกลดสัญญาณเครื่องโทรศัพท์จะเพิ่มกำลังส่งคลื่นให้มากขึ้นเพื่อให้ความแรงของคลื่นเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้คลื่นเข้าสมองท่านมากขึ้น (คนรอบข้างท่านในลิฟต์และในรถก็จะได้รับคลื่นมากขึ้นไปด้วย) พลังงานของคลื่นลดลงตามระยะทางที่เคลื่อนที่ตามกฎผกผันกำลังสอง (หากเพิ่มระยะทาง 10 เท่า กำลังของคลื่นจะลดลง 102=100 เท่า) ดังนั้นการใช้หูฟังหรือการใช้สปีกโฟนหรือบลูทูธจะทำให้ระยะระหว่างสมองและมือถือเพิ่มมากขึ้นช่วยลดพลังงานของคลื่นได้ดีมาก หรือจะใช้วิธีการส่งข้อความแทนการคุยโทรศัพท์มือถือก็ช่วยลดความเสี่ยงได้
ที่สำคัญไม่ควรให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป เพราะกะโหลกศีรษะช่วยป้องกันคลื่นได้บางส่วน แต่กะโหลกศีรษะของเด็กมีความหนาน้อยกว่าของผู้ใหญ่ ดังนั้นไม่ควรให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป และไม่ควรนอนตะแคงคุยโทรศัพท์โดยมีโทรศัพท์ใต้ศีรษะ เพราะโทรศัพท์จะอยู่ระหว่างหมอนและศีรษะขณะสนทนา ทำให้มือถือเพิ่มกำลังการส่งคลื่นและทำให้เราได้รับคลื่นมากขึ้น การใช้มือถือที่มี Radiation น้อย แต่โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีการออกแบบเสาอากาศดีกว่าสามารถลดกำลังส่งได้เมื่อเทียบกับรุ่นเก่าๆ และก่อนนอนควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นรวมทั้ง ปิด Modem WiFi เพราะนอกจากจะลดอันตรายที่อาจจะมีจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแล้วยังช่วยลดโลกร้อนด้วย
ไม่ว่าจะมีวิธีแก้หรือลดความเสี่ยงอย่างไรก็ตาม การรู้จักความพอดีในการใช้โทรศัพท์มือถือน่าจะเป็นหลักสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแล้วยังไม่ต้องจ่ายค่าบริการที่มากตามไปด้วย และคงจะไม่คุ้มถ้าต้องเสียเงินจ่ายทั้งค่าบริการโทรศัพท์และค่ารักษาพยาบาลสุขภาพควบคู่กันไปเพียงแค่ต้องการคุยโทรศัพท์นานๆ เท่านั้นเอง
อันตรายอื่นๆ และสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ 'คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า'
เสาของสถานีโทรศัพท์ อาจจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อท่านอยู่ใกล้เสามากๆ ในระยะไม่กี่เมตร หากอยู่ไกลเกินกว่า 10 เมตรจะได้รับพลังงานน้อยมาก นอกจากนี้คลื่นส่วนใหญ่จะแผ่กระจายออกทางด้านข้างของเสา ดังนั้นผู้อาศัยในตึกหรือใต้ตึกที่ติดตั้งเสาโทรศัพท์ไม่น่าจะได้รับอันตราย อย่างไรก็ตาม หากตึกข้างๆ ท่านติดตั้งเสาโทรศัพท์ (หรือเสาทีวี วิทยุ อื่นๆ) ในระดับความสูงเดียวกับห้องชุดคอนโดของท่านและเสานั้นห่างจากห้องของท่านเพียงไม่กี่เมตร ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการอาศัยในห้องดังกล่าว
สายส่งไฟฟ้าแรงสูง จัดอยู่ในกลุ่ม 2B เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ งานวิจัยบางชิ้นบ่งบอกว่าเด็กที่อาศัยใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง มีโอกาสเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางท่านมีอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรนหรือนอนหลับยากเมื่ออาศัยอยู่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง แม้จะยังมีหลายงานวิจัยที่มีความเห็นขัดแย้ง แต่หากยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน ควรหลีกเลี่ยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หลีกเลี่ยงห้องในอาคารชุดคอนโดที่อยู่ติดสายส่งไฟฟ้าหรือหม้อแปลงขนาดใหญ่
คลื่นไมโครเวฟจากมือถือ รบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้จริง ควรปิดมือถือเมื่ออยู่บนเครื่องบินหรือเมื่อท่านยืนติดกับเครื่องมือทางการแพทย์
“ในเมื่อผลการวิจัยต่างๆ ยังไม่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า โทรศัพท์มือถือปลอดภัยหรือไม่ เราควรยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนโดยหลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในลิฟต์หรือในรถยนต์…”


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

แหล่งข้อมูล :
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/23939

โทรศัพท์มือถือกับผลต่อสุขภาพ

บทความโดย สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

บทนำ
โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการสื่อสาร อุปกรณ์เหล่านี้ทำให้สามารถโทรศัพท์ติดต่อถึงกันโดยโทรจากที่ไหนก็ได้ โทรศัพท์ชนิดนี้มี 2 ประเภท โทรศัพท์โดยทั่วไปจะมีเสาอากาศติดอยู่ที่ตัวโทรศัพท์ อีกประเภทจะมีเสาอากาศแยกออกต่างหากและในกรณีที่ติดตั้งในรถ อาจมีเสาอากาศติดอยู่ที่หน้าต่างหรือหลังคารถ การติดต่อระหว่างโทรศัพท์มือถือกับสถานีที่ใกล้ที่สุดใช้ไมโครเวฟที่ออกมาจากเสา ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงแต่โทรศัพท์มือถือแบบธรรมดาเท่านั้น
ผลกระทบต่อสุขภาพ Basis of Health Concerns โทรศัพท์มือถือแบบธรรมดาจะมีผลต่อสุขภาพสูงขึ้นถ้ามีเสาอากาศติดตั้งอยู่ด้วย ในขณะที่ใช้งานเสาอากาศจะอยู่ใกล้ชิดกับศีรษะของผู้ใช้ ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับระดับการได้รับรังสีไมโครเวฟของสมอง
โทรศัพท์ที่เสาอากาศถูกห่อหุ้มไว้จะมีผลน้อยกว่า เนื่องจากระดับของการได้รับรังสีจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อระยะห่างจากเสาอากาศเพิ่มขึ้น โทรศัพท์ไร้สายที่ใช้งานโดยอยู่ห่างจากเครื่องรับได้ในระยะไม่เกิน 20 เมตร การใช้งานจะไม่มีผลต่อสุขภาพเนื่องจากระดับรังสีต่ำมาก
มีรายงานจำนวนมากปรากฏในสื่อต่างๆ ว่ามีอาการผิดปกติที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น ปวดศีรษะ มีจุดร้อน (hot spots) ในสมองและมะเร็งสมอง
มีรายงานในสื่อเหล่านั้นว่า ประมาณ 70% ของไมโครเวฟที่แผ่ออกมาจากโทรศัพท์มือถือจะถูกดูดกลืนไปที่ศีรษะของผู้ใช้ เรื่องนี้ไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัด แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดจุดร้อน (hot spots) ขึ้นในสมองของผู้ใช้ ทำให้การใช้โทรศัพท์มือถืออาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ มีรายงานบางแห่งที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้หลายรายมีอาการปวดศีรษะหลังจากใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะนี้จึงเป็นการยากที่จะประเมินความแน่นอนของรายงานเหล่านี้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานออกมาอย่างเป็นทางการ
มีรายงานถึงการเกิดมะเร็งสมองในอเมริกาว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ฟ้องร้องผู้ผลิตหรือจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ว่าไมโครเวฟจากโทรศํพท์มือถือทำให้พวกเขาเกิดมะเร็งสมอง แต่เมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่าบางรายเกิดความเข้าใจผิด
ผลของการได้รับไมโครเวฟที่เราทราบแล้ว ไมโครเวฟเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง สิ่งที่แสดงคุณสมบัติของคลื่นเหล่านี้คือความถี่ บางช่วงความถี่เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการสื่อสารรวมทั้งไมโครเวฟด้วย
มีประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดเนื่องจากการเผยแพร่ของสื่อ ถึงโอกาสของการได้รับผลกระทบจากการได้รับคลื่นจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมีความถี่ต่ำกว่าไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือมาก คุณสมบัติและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตของคลื่นชนิดนี้แตกต่างจากไมโครเวฟมาก การนำรายงานการศึกษาที่เกิดจากคลื่นชนิดนี้มาขยายผล (extrapolate) จึงไม่มีความหมายใดๆ
มาตรฐานการป้องกันรังสี (ARPANSA Radiation Protection Standard) ซึ่งกำหนดระดับการได้รับรังสีสูงสุดสำหรับคลื่นความถี่ 3 กิโลเฮิร์ต – 300 กิกะเฮิร์ต ("Maximum Exposure Levels to Radiofrequency Fields - 3kHz to 300 GHz ") ซึ่งเป็นสิ่งที่ทราบแน่ชัดแล้วถึงผลทางด้านความร้อน (thermal effects) ที่เกิดจากการได้รับไมโครเวฟ นั่นคือ เมื่อเนื้อเยื่อได้รับไมโครเวฟสูงถึงระดับหนึ่ง เนื้อเยื่อจะร้อนและเกิดความเสียหาย ขีดจำกัดของการได้รับรังสี (exposure limits) จึงกำหนดเอาไว้ต่ำกว่าระดับที่จะทำให้เกิดความร้อน มาตรฐานนี้ได้กำหนดขีดจำกัดของการได้รับรังสีที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน (non-thermal effects)
โทรศัพท์มือถือทั้งหมดที่วางจำหน่ายในออสเตรเลีย จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับของ Australian Communications and Media Authority (ACMA) และเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเพดานกำลังส่งของโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น จึงคาดว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะไม่ทำให้เกิดความร้อนกับส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย รวมทั้งสมองด้วย
รายงานบางชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าอาจจะมีผลที่ไม่ใช่ความร้อน (non-thermal effect) เกิดขึ้นจากการได้รับไมโครเวฟระดับต่ำ แต่ผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังไม่แน่ชัดพอที่จะนำมาใช้กำหนดไว้ในมาตรฐานได้
ความไม่แน่นอนในการเกิดมะเร็ง
มีรายงานการศึกษาบางชิ้นถึงการได้รับไมโครเวฟในสัตว์พบว่า สามารถกระตุ้นให้มะเร็งขยายตัวเร็วขึ้น เรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลที่แน่นอนและความสัมพันธ์ของผลที่เกิดขึ้นกับปริมาณรังสี ผลที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือยังไม่ชัดเจน ในระดับนี้ จึงไม่ควรที่จะตัดออกไปจากการพิจารณา
มีการศึกษาไม่มากนักที่จะให้ข้อมูลโดยตรงถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับผลเสียของโทรศัพท์มือถือต่อประชาชนทั่วไป รวมถึงการหาค่าจำกัดของระดับของคลื่น ผลจากการศึกษาเหล่านี้ตีความได้ยาก เนื่องจากไม่มีการวัดระดับของคลื่นที่ได้รับ หรือไม่สามารถหาได้จากข้อมูลที่มีอยู่ โดยทั่วไป การศึกษาเหล่านี้จะมีประโยชน์เมื่อนำไปเชื่อมโยงระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ซึ่งยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่เกิดกับกลไกทางชีววิทยา ทั้งในแง่ของการวิจัยระดับเซลล์และในสัตว์ทดลอง
หน่วยงานป้องกันรังสีออสเตรเลีย (Australian Radiation Protection) และองค์การความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Nuclear Safety Agency) ได้ติดตามงานวิจัยเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ในกรณีของการเกิดมะเร็งสมองในผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทราบก่อนคือ ในบางรายนั้นมีการเกิดมะเร็งขึ้นตั้งแต่ก่อนที่จะใช้โทรศัพท์มือถือ การจะจำแนกถึงสาเหตุของการเป็นมะเร็งในแต่ละรายจึงเป็นเรื่องยาก การศึกษาในระยะยาวถึงผลกระทบต่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น การเกิดมะเร็งสำหรับประชาชนทั่วไปจึงยังมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์
การสนับสนุนงานวิจัยของรัฐบาล
ตั้งแต่ปี 1996 รัฐบาลออสเตรเลียได้อนุมัติงบประมาณในโครงการพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ Electromagnetic Energy (EME) Program จำนวน 1 ล้านเหรียญต่อปี โครงการนี้ให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนจากการใช้โทรศัพท์มือถือ สถานีถ่ายทอดสัญญาณ (base stations) รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ในการสื่อสาร โครงการนี้จะเน้นไปที่ประชาชน โดยหาข้อมูลในการกำหนดมาตรฐานและนโยบายด้านสุขภาพที่มีฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด
โครงการ EME ได้ร่วมกับ Committee on Electromagnetic Energy Public Health Issues (CEMEPHI) และผู้แทนจาก Department of Communications, Information Technology กับ Department of Health and Ageing, ARPANSA, ACMA, รวมทั้ง National Health and Medical Research Council (NHMRC) โครงการนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
โครงการวิจัยออสเตรเลีย (Australian research program) โดย NHMRC เป็นผู้ดำเนินการวิจัยด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EME) ในออสเตรเลียและร่วมกับประเทศอื่นในภูมิภาค
ให้ออสเตรเลียเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization's (WHO) โครงการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างประเทศหรือ International Electromagnetic Field (EMF) Project อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EME)
โครงการประชาสัมพันธ์ (public information program) ดำเนินการโดย ARPANSA ทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่สื่อต่างๆ และประชาชน
บทสรุป
ยังไม่มีความแน่ชัดว่าการได้รับคลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือจะทำให้เกิดมะเร็ง และยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่นอนว่าการได้รับคลื่นไมโครเวฟจะเร่งให้มะเร็งที่เป็นอยู่แล้วขยายตัวเร็วขึ้น ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีก
ผู้ใช้ที่มีความกังวลถึงโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพสามารถลดการได้รับคลื่นไมโครเวฟโดย ลดเวลาในการใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง ใช้โทรศัพท์มือถือชนิดที่ไม่มีเสาอากาศ หรือใช้ hands-free ในขณะที่ใช้โทรศัพท์มือถือ
ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เกี่ยวกับผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนจากการใช้โทรศัพท์มือถือระยะยาว
ถอดความจาก Mobile Telephones and Health Effects
เวบไซต์

แหล่งข้อมูล :
http://www.nst.or.th/article/article494/article49402.html
 

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

หนังสือเรื่อง ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
โดย ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ

เป็นผลงานการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเรื่อง ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากคลื่นสัญญาณโทรคมนาคมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ใช้บริการ หรือประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดแหล่งสัญญาณ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


Download :

http://www.mediafire.com/download/1n5ugpl844vh6ji/06.-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2.pdf


แหล่งที่มา :

http://www.finearts.cmu.ac.th/wp-content/uploads/2011/09/06.-%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2.pdf