วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

'คลื่นโทรศัพท์มือถือ' รู้เลี่ยง รู้ใช้ ปลอดภัย

โทรศัพท์มือถือ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว แต่การที่เรามีความต้องการใช้อะไรที่มากเกินไปก็มักมีผลเสียตามมาเสมอ เป็นที่มาของงานวิจัยแขนงต่างๆ ที่ชี้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมาก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของมือถืออาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งหรือเนื้องอกในสมองได้ ซึ่งบางงานวิจัยเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เท็จจริงอย่างไรไม่สำคัญ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนน่าจะแน่นอนกว่า..!!!
ดร.พิเชษฐ กิจธารา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ว่า “คลื่น” คือการเปลี่ยน แปลงกลับไปกลับมาหรือการกระเพื่อมในลักษณะที่มีการแผ่กระจายหรือเคลื่อนที่ออกจากแหล่งกำเนิด โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. คลื่นกล เป็นคลื่นที่ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่ คลื่นประเภทนี้ก็คือ คลื่นผิวน้ำ ซึ่งเป็นการกระเพื่อมของผิวน้ำและแผ่กระจายออกไปเมื่อเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จุดที่ก้อนหินกระทบผิวน้ำก็คือแหล่งกำเนิดคลื่นและตัวกลางในการเคลื่อนที่ก็คือ น้ำ และคลื่นกลอีกชนิดหนึ่งก็คือคลื่นเสียงซึ่งใช้อากาศเป็นตัวกลาง
2. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นคลื่นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กสามารถเคลื่อนที่ได้ในสุญญากาศโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกชนิดเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสง (ประมาณ 300,000,000 เมตรต่อวินาที เทียบเท่ากับการเคลื่อนที่รอบโลกประมาณ 7 รอบในเวลา 1 วินาที) ตัวอย่างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราคุ้นเคยก็คือ คลื่นวิทยุ คลื่นแสงและรังสีเอ็กซ์ (X-Ray) โดยคำว่าคลื่นและรังสี หมายถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนกัน แต่เรามักใช้คำว่ารังสีกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานสูงมาก เช่น รังสีเอ็กซ์ (ใช้ในการเอกซเรย์ในโรงพยาบาล) และรังสีแกมม่า (Gamma-Ray ; มาจากนอกโลกและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) เช่น แหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์คือเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์ในโรงพยาบาล ส่วนรังสีแกมม่ามาจากนอกโลกเป็นส่วนใหญ่หรือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
รังสีทั้ง 2 นี้มีพลังงานมากพอที่จะทำให้ยีนหรือเซลล์ในร่างกายมนุษย์เกิดความผิดปกติได้ทันทีที่ได้รับรังสี แต่โอกาสที่จะเกิดความผิดปกตินั้นน้อยมากและร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดเซลล์ผิดปกติได้อย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือว่าอันตรายจากการเอกซเรย์ทั่วไปในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นน้อยมากคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับจากการช่วยวินิจฉัยโรค แต่การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้เซลล์ของพนักงานที่อยู่ใกล้เกิดความผิดปกติทันทีเช่นกัน และหากได้รับปริมาณรังสีมากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน กลายเป็นมะเร็งหรือเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน แต่คลื่นที่มีความถี่น้อยกว่านั้น เช่น คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ คลื่นอินฟราเรด คลื่นแสง คลื่นเหนือม่วง มีพลังงานน้อยกว่าและไม่ทำให้เซลล์ในร่างกายมนุษย์เกิดความผิดปกติแบบทันทีทันใด แต่สามารถทำให้เกิดอันตรายได้หากได้รับคลื่นเป็นระยะเวลานานๆ หลายปี เช่น คลื่นยูวีในแสงแดดเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งผิวหนัง
สำหรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออยู่ในช่วงไมโครเวฟ มีความถี่ประมาณ 800–2,500 MHz (1 MHz = 1 ล้านลูกคลื่นต่อวินาที) เป็นคลื่นที่สามารถทะลุเข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือเนื้อเยื่อได้ง่าย (ต่างกับคลื่นแสงที่ไม่สามารถทะลุผิวหนังเข้าไปลึกๆ ได้) และเป็นช่วงคลื่นเดียวกับที่ใช้ในเตาไมโครเวฟ ถึงแม้กำลัง (อัตราพลังงานที่ใช้ต่อวินาที) ของโทรศัพท์มือถือ (1-2 วัตต์) จะน้อยกว่าของเตาไมโครเวฟ (ประมาณ 1,000 วัตต์) แต่เนื่องจากเป็นความถี่ในช่วงเดียวกัน จึงทำให้เกิดความกังวลเรื่องอันตรายจากคลื่นในช่วงนี้ขึ้นมา ซึ่งความกังวลหลักมีอยู่ 2 ประเด็นคือ คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือทำให้เซลล์สมองเกิดความผิดปกติโดยตรงหรือไม่และความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟส่งผลทางอ้อมต่อสมองหรือไม่อย่างไร
จากผลงานวิจัยในอดีตเมื่อหลายปีก่อนนับร้อยชิ้นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของคลื่นไมโครเวฟต่อสมอง ซึ่งผลวิจัยมีทั้งที่เห็นว่าเป็นอันตรายและที่เห็นว่าไม่เป็นอันตรายจำนวนเท่าๆ กัน จึงไม่สามารถสรุปไปทางใดทางหนึ่งได้ แต่ อย่างไรก็ตามความผิดปกติจากคลื่นความถี่ต่ำพลังงานน้อยอย่างคลื่นไมโครเวฟนั้นเกิดขึ้นช้ามากในระยะเวลาหลายปี การศึกษาวิจัยจึงต้องใช้เวลานานหลายปีเช่นกัน ผลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือจึงเพิ่งทยอยออกมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ข่าวที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในช่วงกลางปี 2011 ก็คือ ผลสรุปจากการประชุมของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) ซึ่งมีสาระสำคัญๆ ดังนี้
1. การประชุมได้พิจารณาผลงานวิจัยนับร้อยชิ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
2. ผลงานวิจัยทั้งหมดไม่เพียงพอหรือไม่สามารถบอกได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในกรณีปกติทั่วไปทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง
3. งานวิจัยที่บ่งบอกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเยอะเกินไปเป็นเวลานาน (มากกว่า 30 นาทีต่อวัน เป็นเวลากว่า 10 ปี) เพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง 40% มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ (ทุกคนมีโอกาสเป็นเนื้องอกสมอง แต่ถ้าคุณใช้มือถือมากเกินไป โอกาสที่คุณจะเป็นเนื้องอกมีมากขึ้น) อย่างไรก็ตามนี่เป็นงานวิจัยเพียง 1 ชิ้นที่จะต้องรองานวิจัยจากกลุ่มอื่นยืนยันต่อไป
4. ที่ประชุมจัดให้คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่อยู่ในกลุ่ม 2B คือหมายถึงกลุ่มที่อาจจะเพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง (possibly carcinogenic to humans) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเครื่องสำอางบางชนิด
โดยทาง International Agency for Research on Cancer (IARC) แบ่งกลุ่มปัจจัยก่อมะเร็งเป็น 4 กลุ่มด้วยกันคือกลุ่มที่ 1 ก่อมะเร็งชัดเจน (definitely carcinogenic to humans) ต้องหลีกเลี่ยง กลุ่มที่ 2A น่าจะก่อมะเร็ง (probably carcinogenic to humans) ควรหลีกเลี่ยง กลุ่มที่ 2B อาจจะก่อมะเร็ง (possibly carcinogenic to humans) พึงระวัง หรือยึดปลอดภัยไว้ก่อน กลุ่มที่ 3 ไม่สามารถจำแนกได้ (not classifiable as to its carcinogenicity to humans) และกลุ่มที่ 4 ไม่น่าจะก่อมะเร็ง (probably not carcinogenic to humans)
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสำคัญอื่นๆ อีก ถึงแม้งานวิจัยเหล่านี้ยังมีจำนวนน้อยชิ้นแต่เป็นงานวิจัยที่ควรติดตามเพื่อยืนยันต่อไป เช่น ยังไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟมีน้อยและไม่กระทบสมองโดยตรง กระแสเลือดในสมองสามารถระบายความร้อนได้ดี แต่ความร้อนต่อดวงตายังต้องรอการวิจัยต่อไป เพราะภายในดวงตาไม่มีเส้นเลือดคอยระบายความร้อน งานวิจัยบางชิ้นบ่งบอกว่าคลื่นไมโครเวฟทำให้พูดช้าลง รบกวนการเต้นของหัวใจ รบกวนความจำ เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งช่องปาก แต่ทั้งหมดยังไม่ยืนยัน เนื้อสมองที่อยู่ใกล้โทรศัพท์ขณะสนทนาใช้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสมากขึ้น แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงว่าทำให้ก่อมะเร็งหรือไม่
ในเมื่อผลการวิจัยต่างๆ ยังไม่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าโทรศัพท์มือถือปลอดภัยหรือไม่ เราควรยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนโดยการปฏิบัติดังนี้ หลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน (ควรน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน และคุยสั้นๆ ในแต่ละครั้ง) หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในลิฟต์หรือในรถยนต์ เพราะลิฟต์และรถยนต์ทำด้วยโลหะที่ไปลดพลังงานของคลื่นที่จะส่งไปยังสถานีโทรศัพท์ (เสาโทรศัพท์ตามยอดตึกต่างๆ) เมื่อถูกลดสัญญาณเครื่องโทรศัพท์จะเพิ่มกำลังส่งคลื่นให้มากขึ้นเพื่อให้ความแรงของคลื่นเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้คลื่นเข้าสมองท่านมากขึ้น (คนรอบข้างท่านในลิฟต์และในรถก็จะได้รับคลื่นมากขึ้นไปด้วย) พลังงานของคลื่นลดลงตามระยะทางที่เคลื่อนที่ตามกฎผกผันกำลังสอง (หากเพิ่มระยะทาง 10 เท่า กำลังของคลื่นจะลดลง 102=100 เท่า) ดังนั้นการใช้หูฟังหรือการใช้สปีกโฟนหรือบลูทูธจะทำให้ระยะระหว่างสมองและมือถือเพิ่มมากขึ้นช่วยลดพลังงานของคลื่นได้ดีมาก หรือจะใช้วิธีการส่งข้อความแทนการคุยโทรศัพท์มือถือก็ช่วยลดความเสี่ยงได้
ที่สำคัญไม่ควรให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป เพราะกะโหลกศีรษะช่วยป้องกันคลื่นได้บางส่วน แต่กะโหลกศีรษะของเด็กมีความหนาน้อยกว่าของผู้ใหญ่ ดังนั้นไม่ควรให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป และไม่ควรนอนตะแคงคุยโทรศัพท์โดยมีโทรศัพท์ใต้ศีรษะ เพราะโทรศัพท์จะอยู่ระหว่างหมอนและศีรษะขณะสนทนา ทำให้มือถือเพิ่มกำลังการส่งคลื่นและทำให้เราได้รับคลื่นมากขึ้น การใช้มือถือที่มี Radiation น้อย แต่โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีการออกแบบเสาอากาศดีกว่าสามารถลดกำลังส่งได้เมื่อเทียบกับรุ่นเก่าๆ และก่อนนอนควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นรวมทั้ง ปิด Modem WiFi เพราะนอกจากจะลดอันตรายที่อาจจะมีจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแล้วยังช่วยลดโลกร้อนด้วย
ไม่ว่าจะมีวิธีแก้หรือลดความเสี่ยงอย่างไรก็ตาม การรู้จักความพอดีในการใช้โทรศัพท์มือถือน่าจะเป็นหลักสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแล้วยังไม่ต้องจ่ายค่าบริการที่มากตามไปด้วย และคงจะไม่คุ้มถ้าต้องเสียเงินจ่ายทั้งค่าบริการโทรศัพท์และค่ารักษาพยาบาลสุขภาพควบคู่กันไปเพียงแค่ต้องการคุยโทรศัพท์นานๆ เท่านั้นเอง
อันตรายอื่นๆ และสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ 'คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า'
เสาของสถานีโทรศัพท์ อาจจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อท่านอยู่ใกล้เสามากๆ ในระยะไม่กี่เมตร หากอยู่ไกลเกินกว่า 10 เมตรจะได้รับพลังงานน้อยมาก นอกจากนี้คลื่นส่วนใหญ่จะแผ่กระจายออกทางด้านข้างของเสา ดังนั้นผู้อาศัยในตึกหรือใต้ตึกที่ติดตั้งเสาโทรศัพท์ไม่น่าจะได้รับอันตราย อย่างไรก็ตาม หากตึกข้างๆ ท่านติดตั้งเสาโทรศัพท์ (หรือเสาทีวี วิทยุ อื่นๆ) ในระดับความสูงเดียวกับห้องชุดคอนโดของท่านและเสานั้นห่างจากห้องของท่านเพียงไม่กี่เมตร ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการอาศัยในห้องดังกล่าว
สายส่งไฟฟ้าแรงสูง จัดอยู่ในกลุ่ม 2B เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ งานวิจัยบางชิ้นบ่งบอกว่าเด็กที่อาศัยใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง มีโอกาสเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางท่านมีอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรนหรือนอนหลับยากเมื่ออาศัยอยู่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง แม้จะยังมีหลายงานวิจัยที่มีความเห็นขัดแย้ง แต่หากยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน ควรหลีกเลี่ยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หลีกเลี่ยงห้องในอาคารชุดคอนโดที่อยู่ติดสายส่งไฟฟ้าหรือหม้อแปลงขนาดใหญ่
คลื่นไมโครเวฟจากมือถือ รบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้จริง ควรปิดมือถือเมื่ออยู่บนเครื่องบินหรือเมื่อท่านยืนติดกับเครื่องมือทางการแพทย์
“ในเมื่อผลการวิจัยต่างๆ ยังไม่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า โทรศัพท์มือถือปลอดภัยหรือไม่ เราควรยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อนโดยหลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในลิฟต์หรือในรถยนต์…”


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

แหล่งข้อมูล :
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/23939

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น